กูรูด้านการจัดการน้ำ ชี้ 3 ปัจจัยหลัก น้ำท่วมหนัก จ.น่าน ในรอบ 100 ปี ชี้ สุโขทัยยังเอาอยู่ คิวต่อไป จ.พิจิตร เชื่อ กทม. รอด ไม่เหมือนปี 54
ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกและน้ำท่วมหลายพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลกรมบรรเทาสาธารณภัย ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยทั่วไทย ตั้งแต่วันที่ 16-26 ส.ค. 67 พบว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา และนครศรีธรรมราช โดยมีความเดือดร้อน 16 อำเภอ 270 หมู่บ้าน 1,469 ตำบล บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 30,953 ครัวเรือน โดยมีผู้เสียชีวิต 22 ศพ แบ่งเป็น เชียงราย 2 ราย พะเยา 2 ราย น่าน 3 ราย แพร่ 2 ราย และภูเก็ต 13 ราย
ขณะที่ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จ. เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย รวม 32 อำเภอ 125 ตำบล 737 หมู่บ้าน และบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 11,858 ครัวเรือน
ขณะเดียวกัน ทางกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ลักษณะอากาศในวันที่ 26-28 ส.ค. นี้ว่า ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ ทีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ กล่าวถึงเส้นทางน้ำท่วม รวมถึงสาเหตุที่ “น่าน” เจอหนักกว่าจังหวัดอื่นในรอบ 100 ปี มาจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย
1. จ.น่าน ไม่มี “แก้มลิง” ที่จะช่วยเก็บกักน้ำ
2. ลักษณะพื้นที่เป็นรูปขนนก หมายความว่า ลำน้ำสาขาไหลลงแม่น้ำใหญ่ คือ แม่น้ำน่าน จนหมด ดังนั้น เมื่อฝนตกตั้งแต่ตอนบนของจังหวัด คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ ท่าวังผา และ อ.เมือง น้ำทุกสาขาลงแม่น้ำน่านหมด โดยมีระยะทางสั้นๆ นี่เองทำให้ จ.น่าน เจอน้ำท่วมหนัก มาแรง และเร็ว
3. ปริมาณฝนมาก 3 วันแรก 16-18 ส.ค. ฝนตกทะลุ 100 มิลลิเมตร วันที่ 19 ฝนหยุด และวันที่ 20 กับ 21 ส.ค. ตกสูงเกิน 200 มิลลิเมตร คือ 250 และ 230 มิลลิเมตร และที่สำคัญ มาตกในพื้นที่ชุ่มฉ่ำน้ำอยู่แล้ว เป็นเหตุให้จังหวัดน่านเจออุทกภัยหนักที่สุด แม้แต่ขนย้ายสัตว์เลี้ยงไม่ทัน
เชียงราย: ไม่มีแก้มลิง แต่น้ำสามารถไหลลงแม่น้ำโขงได้ แต่อาจจะไหลช้าหน่อย เพราะแม่น้ำโขงมีระดับสูง แต่ยังพอไหลลงได้ ขณะที่น้ำที่มาจากตอนเหนือในเมียนมา อย่างแม่น้ำกก เรามีข้อมูลน้อย แต่ก็พบว่ามีน้ำไหลมาก ลดลงแบบนี้ 2 รอบ โดยมีข้อสังเกตว่า “ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว” แปลว่าปริมาณฝนที่ตกบริเวณนั้นไม่ต่อเนื่อง
ขณะที่ประเทศไทย พบว่ามีฝนตกวันที่ 17-18 ส.ค. จากนั้น วันที่ 19 ส.ค. มีฝนตกน้อยลง กระทั่งวันที่ 20-21 ฝนตกมากอีก ซึ่งก็พอที่จะระบายน้ำออกไปได้ แม้จะในปริมาณช้าๆ
ฉะนั้นในพื้นที่ที่เห็นภาพชัดเจนอย่าง “แม่สาย” ตลาดสายลมจอย ซึ่งแปลว่าปริมาณฝนในเมียนมาชายแดนไทย ก็ตกลงมาคล้ายๆ กับประเทศไทย ความโชคดีคือ ผลผลิตอย่างข้าว ก็ยังไม่ถึงขั้นตาย เพราะน้ำที่อยู่ในเชียงราย ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ข้าวก็ยังพอรับไหว ยกเว้นบางพื้นที่ที่เจอกับโคลนไหลมาด้วย พื้นที่เสียหายในเชียงราย ส่วนมากเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีการค้าขาย
พะเยา: ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง ทำให้การระบายน้ำค่อนข้างดี แม้ฝนตกเยอะเหมือนกัน แต่ก็ระบายได้เร็ว ส่วนที่พบน้ำตกค้างอยู่บ้างในพื้นที่ อ.เทิง ซึ่งล่าสุดพบว่าระบายไปเกือบหมดแล้ว มีบางส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตร นาข้าว ก็ยังพอรับไหว
ส่วนพะเยาตอนล่าง ยังถือว่าไม่เสียหาย เพราะความชันสูง ตั้งแต่เชียงม่วน อ.ปง ฝนตกไหลมาที่แก่งเสือเต้น ห้วยสัก แม่น้ำงาว เมื่อน้ำไหลบรรจบกัน ก็ทำให้เกิดน้ำท่วม 3-4 เมตร เมื่อน้ำไหลมาถึงฝายแม่ยม จ.แพร่
แพร่: สามารถบริหารจัดการให้ไหลเข้าทุ่งนา โดยตรงนั้นมีระบบชลประทานอยู่ ทำให้ส่งต่อบริหารเป็น “แก้มลิง” ไว้ได้ หลายๆ แห่ง ที่ช่วยอุ้มน้ำไว้ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากปล่อยลงไป ก็ท่วมสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย หนักแน่ ตรงนี้มีประตูน้ำหาดสะพานจันทร์อยู่ ช่วยให้น้ำไหลไปทางพิษณุโลก ไปทางคลองยม-น่าน ปัญหาคือ ยังสร้างไม่เสร็จ สามารถผันได้ 100 ลบ.ม. ซึ่งน้ำที่มาแบบฉับพลัน มันทำให้โครงการดังกล่าวได้รับผลกระทบเสียหาย แต่ความเสียหายส่วนอื่นคือน้ำกระจายกันไป
สุโขทัย: ภาพรวมจะได้รับความเสียหาย แต่พื้นที่สำคัญถือว่ายัง “รอด” แต่ “รอดแบบปริ่มๆ” คือ คันกั้นน้ำยังไม่พัง สุโขทัยก็ยังรอดได้
หลายฝ่ายเป็นห่วงฝายในสุโขทัยว่าจะรับไหวหรือไม่ นายชวลิต ตอบว่า “ฝาย” นั้นมีหลายขนาด ตั้งแต่ฝายดินซีเมนต์ ที่ของบฯ แล้วไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะเป็นฝายชะลอน้ำในขนาด “จิ๋ว” หากเป็นฝายหาดสะพานจันทร์ นี่คนละเรื่องกับ “ฝาย” ข้างต้น เพราะมันทำหน้าที่คล้ายกับ “ประตูน้ำเจ้าพระยา” เลย แต่มีขนาดเล็กกว่า แต่ถ้าเป็นฝายแบบทั่วไป ทำหน้าที่แค่ชะลอน้ำได้อย่างเดียว
แม้จะมีบางฝายที่พังไปแล้ว อย่างพื้นที่สวรรคโลก แต่ตรงนั้นจะมีแต่พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย แต่หากประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ไม่พัง เขตสำคัญก็จะไม่ได้รับผลกระทบ
“คิวต่อไปคือ พิจิตร ชุมแสง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่รับน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เพราะส่วนหนึ่งมาจากพิษณุโลกด้วย เพราะที่ นครไทย กำลังท่วมอยู่ ก็ไหลมารวมที่ชุมแสง ซึ่งถือว่าได้รับความเสียหาย แต่ชาวบ้านมีการเตรียมความพร้อมที่ดี เพราะเจอมาบ่อย ถัดจากชุมแสง ก็ต่อด้วย จ.นครสวรรค์ มีแก้มลิง ขณะที่น้ำจากสะแกกรังมีไม่มาก
นายชวลิต สรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้ สำหรับคนกรุงเทพฯ นั้น ไม่จำเป็นต้องกลัว เพราะตั้งแต่ท่าวังผา มาถึงน่าน และ อ.นาน้อย น้ำทั้งหมดจะลงเขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด และตอนนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ยังสามารถรับได้อีกมาก (ปริมาณน้ำ 6,674 ล้าน ลบ.ม. (70%) สามารถเก็บกักได้ 9,510 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้จริง 3,824 ล้าน ลบ.ม. (40%) ที่มา: คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ณ วันที่ 26 ส.ค.) เส้นทางน้ำก็จะมาจากแพร่ สุโขทัย ต่อด้วยพิจิตร ชุมแสง ไปกระจายน้ำต่อ จ.นครสวรรค์ ซึ่งก็สามารถรับได้ เนื่องจากแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง ปริมาณน้ำยังไม่มาก
โอกาสจะโดนฝนระลอกใหม่ซ้ำมีอีกไหม นายชวลิต กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบ หลังจากนี้ 25-30 ส.ค. เชื่อว่าฝนจะน้อยลงแล้ว มีฝนตกบ้าง อาจจะทำให้ตกใจ แต่น้ำจะไม่ท่วมเหมือนที่ผ่านมา เหลือแค่พิจิตร ชุมแสง ที่น้ำยังมาไม่ถึง และกำลังจะไปถึง ส่วนเมื่อมาถึงแล้ว มวลน้ำก็ไม่ได้ใหญ่มาก มีแค่ที่ลำน้ำยม ซึ่งบริเวณ จ.แพร่ ก็เริ่มลดลงแล้ว…
อ่านบทความที่น่าสนใจ